มบส. Up Skills การยกระดับนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และวิถีชุมชนคลองบางหลวง ด้วยกระบวนการวิศวกรสังคม

วันที่ 6 – 8 มิถุนายน 2567
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รังสรรค์ บัวทอง รองอธิการบดี
ประธานเปิดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการค่ายวิศวกรสังคม (แม่ไก่) : Up Skills การยกระดับนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และวิถีชุมชนคลองบางหลวง ด้วยกระบวนการวิศวกรสังคม ณ วัดคูหาสวรรค์ ตลาดน้ำชุมชนคลองบางหลวง เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร โดยมีนักศึกษาวิศวกรสังคม จำนวน 94 คน ร่วมกิจกรรมลงชุมชน เก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล อันจะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์วิถีชุมชนคลองบางหลวง

กิจกรรมการลงพื้นที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีรถวัลย์ ปานกลาง ผู้อำนวยการสำนักกิจการนักศึกษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์เชิดศิริ นิลผาย รองผู้อำนวยการสำนักกิจการนักศึกษา และเครือข่ายกิจการนักศึกษา รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาของทุกคณะ นำคณะเดินทางโดยเรือ จากท่าวัดประดิษฐาราม ซึ่งอยู่ใกล้มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ล่องไปตามคลองบางหลวง นำนักศึกษาไปขึ้นที่ท่าเรือวัดคูหาสวรรค์ เขตภาษีเจริญ ซึ่งได้รับความเมตตาจากพระครูสมุห์กาจ ผู้ช่วยเลขานุการรักษาการเจ้าอาวาสวัดคูหาสวรรค์ ในการต้อนรับและใช้สถานที่ของวัดเพื่อดำเนินกิจกรรมกลุ่มของนักศึกษาวิศวกรสังคมเพื่อลงพื้นที่ตลาดน้ำชุมชนคลองบางหลวง

กิจกรรมลงชุมชน เพื่อสำรวจผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น วิถีการดำเนินชีวิต ของชุมชนคลองบางหลวง ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความรู้เกี่ยวกับชุมชนคลองบางหลวงเป็นอย่างดี ได้แก่
คุณธีรนันท์ ช่วงพิชิต คุณสุดารา สุจฉายา  คุณอิ่มพรรณ อยู่ไสว คุณธานัท  ภุมรัช ร่วมกับวิทยากรชุมชนบรรยายให้ความรู้ฐานกิจกรรมผลิตภัณฑ์ชุมชน จำนวน 9 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่
1.กลุ่มวัดกำแพงบางจาก  
2. กลุ่มสะพานช้าง   
3. กลุ่มบ้านศิลปิน คลองบางหลวง  
4. กลุ่มหุ่นละครเล็ก คำนาย   
5. กลุ่มบ้านกระยาสารท  
6. กลุ่มฐาน DIY  
7. กลุ่มสะพานเมตตา  วัดใจ   
8. กลุ่มสวนสมุนไพร วัดกำแพง  
9. กลุ่มท่องเที่ยวย่านเมืองเก่า(วัดศาลาสี่หน้า) 

    กิจกรรมที่ 2 เมื่อกลุ่มนักศึกษาวิศวกรสังคมได้ลงพื้นที่ เพื่อเก็บข้อมูลแล้ว ได้นำคณะนักศึกษาเดินทางต่อไปยัง เดอะเกรซ อัมพวา รีสอร์ท จ.สมุทรสงคราม เพื่อทำกิจกรรมเชิงวิเคราะห์ข้อมูล โดยแบ่งกลุ่มนักศึกษาเป็น 9 กลุ่ม ออกแบบการพัฒนาเชิงพื้นที่และผลิตภัณฑ์ โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาประจำกลุ่มคอยให้คำแนะนำการวิเคราะห์ข้อมูล จากนั้นนำคณะวิศวกรสังคมศึกษาวิถีชุมชนของตลาดน้ำอัมพวา ที่มีความคล้ายคลึงกับตลาดน้ำชุมชนคลองบางหลวง และนำเสนอแนวทางการพัฒนาวิถีชุมชนตลาดน้ำคลองบางหลวง ซึ่งจะเป็นแนวทางสู่การพัฒนาวิถีชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป